Tel. 097-9537068

เอสเซ็นเทียร์ – ทำความรู้จักการกลั่นน้ำหอมแบบ Attar ความหอมจากยุคโบราณสู่ยุคปัจจุบัน
รู้จักกับที่มาของความหอมที่มีมาแต่ยาวนาน การกลั่นน้ำหอมแบบ Attar

           ในปัจจุบันเริ่มมีคนสนใจใช้น้ำหอม Attar มากขึ้น รวมถึงการให้ความสนใจน้ำหอมสไตล์ตะวันออกกลางและอินเดีย ซึ่งมีความแพร่หลายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จนนักปรุงน้ำหอมหลายท่านและบ้านน้ำหอมหลายแห่งก็เริ่มหันมาศึกษาวัตถุดิบน้ำหอมที่เป็นน้ำมัน เช่น น้ำมันไม้กฤษณา

วันนี้แอดมิน Essentir จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับการกลั่นน้ำหอมแบบ Attar จะเป็นอย่างไร ไปดูกันเลยค่ะ

อัตตาร์ หรือ ATTAR

          วิธีการกลั่นน้ำหอม Attar เป็นวิธีโบราณที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก โดยขั้นตอนเริ่มต้นจากคนงานนำกลีบดอกกุหลาบและน้ำเปล่าลงในหม้อทองแดงขนาดใหญ่ จากนั้นจึงปิดฝาและใช้ดินเหนียวผสมฝ้ายปิดรอบขอบฝาหม้อ เพื่อป้องกันไม่ให้ไอระเหยออกมาในระหว่างกระบวนการกลั่น มีการต่อท่อไม้ไผ่ขนาดเล็กที่เรียกว่าซังก้า เพื่อให้น้ำมันหอมระเหยที่ได้ไหลออกมาตามท่อลงสู่ภาชนะที่รองไว้ และจำเป็นต้องควบคุมอุณหภูมิให้พอดี เพื่อให้ได้น้ำมันหอมระเหยมีคุณภาพมากที่สุด

          จากนั้นจึงได้มีการแต่งเติมกลิ่นหอมของไม้จันทร์ กานพลู กระวาน ดอกมะลิ หรือกลิ่นอื่นๆ ลงไป และจะต้องหมักไว้เป็นเวลานาน เพื่อทำให้กลิ่นของน้ำหอมมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่ในปัจจุบันก็มีการใช้น้ำมันสังเคราะห์ด้วย เช่น Paraffin (พาราฟิน) หรือ White oil / Mineral oil (น้ำมันขาว) เหตุผลอย่างหนึ่งก็คือ การขาดแคลนน้ำมันแก่นจันทน์และลดต้นทุนนั่นเอง

           โดยน้ำมันเหล่านี้ สามารถนำมาใช้เป็นน้ำหอมโดยตรงได้เลย และยังสามารถใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผสมเป็นน้ำหอมสูตรต่างๆ ได้อีก เช่นน้ำหอมทั้งแบบอินเดียและตะวันออกกลาง ที่นำเอา Attar มาผสมกัน รวมถึงการทำธูป

             ด้วยขั้นตอนที่หลากหลายและพิถีพิถันในการกลั่น ทำให้ Attar มีราคาจำหน่ายตามท้องตลาดค่อนข้างสูง ซึ่งในปริมาณเพียง 2 ช้อนชา ถูกจำหน่ายอยู่ที่ 10,000 รูปี หรือราวประมาณ 4,000 บาท

การกลั่นน้ำหอม Attar

             นอกเหนือจากนี้ ยังมี attar ที่เป็นการนำเอา attar หลาย ๆ ประเภทมาผสมกัน หรือมีการรวมวัตถุดิบหลาย ๆ อย่างก่อนที่จะกลั่น หรือผสมกับวัตถุดิบแบบน้ำหอมสมัยใหม่ เช่น

- Shamama Attar (อินเดีย)
หนึ่งใน Attar ที่มีความซับซ้อนมาก ผู้ผลิตแต่ละที่ก็จะมีสูตรลับในแบบของตัวเอง อาจจะใช้เครื่องเทศต่างๆและดอกไม้ผสมกันมากถึง 20-30 ชนิดขึ้นไป  เช่น Saffron, Nutmeg (ลูกจันทน์), Mace clove (กานพลู), Cardamom (ลูกกระวาน) เมื่อกลั่นเสร็จแล้ว จะนำมาผสมกับ Attar หรือ Essential oil อื่นๆ อีก เช่น Ruh gulab, Rose essential oil, Mitti attar, รวมไปถึง Oud โดยที่ Shamama attar ทั้งใช้เป็นน้ำหอมโดยตรง หรือใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์อื่นได้อีก เช่น เครื่องสำอาง, ธูป

shamama-attar

ตัวอย่างน้ำหอม Shamama Attar (อินเดีย)

- Majmua attar (อินเดีย)
Attar มีสีออกเขียวๆ ซึ่งมาจาก Ruh khus หรือหญ้าแฝก ทำให้ได้กลิ่นที่นึกถึงดิน, ควัน แล้วยังมีวัตถุดิบอื่นๆ อย่าง Kewda attar (ใบเตย), Mitti attar (ดินอบ), Kadam attar, ดอกไม้อย่าง Frangipani attar และดอกไม้อื่นๆ ทำให้กลายเป็น Attar ที่มีกลิ่นความเป็นธรรมชาติมากที่สุด ใช้ใส่ในการร่วมพิธีทางศาสนาทั้งในวัฒนธรรมของฮินดูและมุสลิมอีกด้วย

น้ำหอม Majmua attar

ตัวอย่างน้ำหอม Majmua attar (อินเดีย)

- Jannatul Firdaus (อาหรับ)
กลิ่นแห่งสรวงสวรรค์ แต่ละที่ก็ทำออกมาแตกต่างกัน แต่มักจะเป็นกลิ่นฟลอรัล รวมกลิ่นดอกไม้หลายๆ ชนิด เช่น มะลิ เครื่องเทศ อบเชย เพิ่มความสดชื่นด้วยกลิ่นเปรี้ยวของ Citrus และกลิ่นเขียวแบบหญ้า โดยบางที่ก็ผสมออกมาเป็นรูปแบบของน้ำหอมสมัยใหม่ เช่นทำเป็น Floral aldehydic โดยการใส่ Aldehyde ลงไปด้วย

น้ำหอม Jannatul Firdaus

น้ำหอม Jannatul Firdaus (อาหรับ)

- Musk Tahara (อาหรับ)
มีความหมายว่า ชำระล้างมลทิน ออกแบบมาให้เป็นกลิ่นที่ทำให้นึกถึงความสะอาด มาจากกลิ่น White musk, แป้ง, Violet และดอกไม้ เช่น ดอกบัว, ลิลลี่ รวมไปถึงน้ำผึ้ง ผู้หญิงมักจะนำ Attar กลิ่นนี้มาใช้ดูแลจุดซ่อนเร้นให้มีกลิ่นหอมสะอาด

น้ำหอม Musk Tahara

น้ำหอม Musk Tahara (อาหรับ)

          ข้อดีของ attar อย่างหนึ่งเมื่อเทียบกับน้ำหอมแอลกอฮอลก็คือ ไม่ทำให้เกิดภาวะผิวแห้งจากการที่แอลกอฮอลระเหยเอาความชุ่มชื้นจากผิวออกไป และยังเป็นน้ำหอมที่แพร่หลายในกลุ่มคนที่ไม่ใช้แอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาดอีกจากเหตุผลทางศาสนาและวัฒนธรรมอีกด้วย

ทุกคนได้ทำความรู้จักกับน้ำหอม Attar กันมากขึ้นแล้ว หวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้หลายๆคนในการเลือกใช้น้ำหอมให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์และความชอบของตัวเองกันนะคะ ในบทความหน้าแอดมิน Essentir จะนำความรู้อะไรมาฝากอีก ฝากติดตามกันด้วยนะคะ